Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การฝึกความเป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์น้อยในตัวลูก

Posted By Plook TCAS | 15 พ.ย. 66
331 Views

  Favorite

            ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของลูกน้อย ที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรสนับสนุนส่งเสริมให้ถูกทาง เนื่องจากเป็นทักษะพื้นฐานอย่างหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสรรค์สร้างความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกได้ และวิชาสำคัญอย่างหนึ่งที่จะปลุกเร้าความเป็นนักคิดให้ลูกได้คือวิชาวิทยาศาสตร์ ความน่าสนุก น่าสนใจ และน่าตื่นเต้นของวิชานี้คือ ช่วยให้ลูกน้อยรู้จักคิดและหาคำตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผล สนุกกับการเป็นนักแสวงหาที่ค้นคว้าหาความรู้และข้อมูลได้ด้วยตนเอง และเลือกเชื่อเลือกใช้ข้อมูลที่ได้มาอย่างมีสติปัญญาและวิจารณญาณ โลกในยุคปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ทักษะในด้านการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์น้อยในตัวลูก จะทำให้ลูกเป็น Smart Kids เติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในอนาคต

            การเข้าถึงข้อมูลเพื่อฝึกความเป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์น้อยในตัวลูก เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง และจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเราสามารถสนับสนุนและส่งเสริมลูกได้หลากหลายวิธีคือ

 

เปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์อันกว้างไกลให้ลูกน้อยด้วยการอ่าน

            อันดับแรกคือเราเองต้องเป็นนักอ่าน เพื่อเป็นต้นแบบและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านหนังสือให้ลูก เราสามารถเล่าเรื่องราวที่สนุกและน่าสนใจ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และสอนให้ลูกรู้จักเชื่อมโยงความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่เราเล่าให้ฟัง แล้วหาหนังสือดี ๆ มีสาระ ภาพสวยงาม เข้าใจง่าย เหมาะกับวัย เกี่ยวกับประวัติและผลงานของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญให้ลูกอ่าน เพื่อเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจการเป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์น้อยในตัวลูก ด้วยการอ่านลูกจะเกิดทักษะสร้างความฉลาดคิดได้เอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักวิทยาศาสตร์น้อยของเรา ที่เติบโตขึ้นมาในยุค IT ที่ส่งผลในทุกย่างก้าวของชีวิตและการงานในอนาคต แล้วอย่าลืมพาลูกแวะชมนิทรรศการหนังสือวิทยาศาสตร์ ซึ่งสำนักพิมพ์จัดขึ้น ลูกจะได้เลือกช็อปหนังสือดีถูกใจได้ด้วยตัวเอง

 

เข้าถึงข้อมูลสำคัญผ่านทางอินเตอร์เน็ตและสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ

            ส่งเสริมให้ลูกได้รู้จักและเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ผ่านช่องทางสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรสำคัญ ๆ ที่ส่งเสริมความเป็นนักวิทยาศาสตร์น้อยในตัวลูก เช่น โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ในพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนี้สร้างเสริมประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างมีความสุข สนุกกับกิจกรรมการทดลอง เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ ให้เติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพ และเราต้องเพิ่มพูนทักษะเฉพาะตัวของเราเองด้วย โดยการเรียนรู้แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นสำหรับเด็กและให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ แล้วตั้งค่าไว้ในโทรศัพท์มือถือ ให้ลูกไว้ศึกษาได้ในยามที่ต้องการตามเวลาที่เรากำหนดให้ เช่น Cosmic-Watch ที่ใช้ภาพกราฟิก 3 มิติสมจริง แสดงตำแหน่ง การเคลื่อนไหวของดวงดาวและวัตถุต่าง ๆ ในอวกาศ เพื่อให้เห็นภาพจากแนวคิดทฤษฎีเป็นรูปธรรมชัดเจน เรียนรู้ง่ายยิ่งขึ้น (https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/89884/-blog-parnew-par-)

 

เยี่ยมชมและเข้าร่วมกิจกรรมกับแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์

            การศึกษานอกสถานที่เป็นสิ่งจำเป็น ลูกจะได้รับโอกาสการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง จะสนุกสนานกับการเดินทางและการเยี่ยมชม เพราะภาพอะนิเมชั่นที่สถาบันต่าง ๆ จัดทำขึ้นให้ทั้งความบันเทิง ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่เบื่อหน่าย ให้สาระความรู้หลากหลายแบบเข้าใจง่าย รับรองลูกน้อยดูแล้วจำเรื่องราวได้โดยไม่ต้องท่องจำ แถมยังได้โอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสร้างภาพเคลื่อนไหวนี้ หากข้อสงสัยเหล่านี้เกิดขึ้นในหัวลูก เช่น “เค้าทำได้ยังไงน้า... ทำไมถึงเป็นยังงั้นยังงี้... แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง” นั่นละ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์น้อยเกิดขึ้นในตัวลูกแล้ว เราก็ชวนลูกค้นคว้าหาคำตอบด้วยการสำรวจข้อมูลกันต่อไปได้อย่างสนุกสนาน เป็นการเรียนรู้พร้อมกับลูก และยิ่งหากเราสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์น้อยค้นหาคำตอบได้เอง ยิ่งจะทำให้ลูกรู้สึกว่า การค้นหาความรู้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องน่าสนุก และควรค่าแก่การทำต่อเนื่องให้มากขึ้น

แหล่งเรียนรู้ที่ควรพาลูกเดินทางไปเยี่ยมชมได้ตามโอกาส เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ ในบางเรื่องราว เราอาจไม่มีความรู้ชัดเจนนักที่จะอธิบายตอบข้อสงสัยของลูกน้อยช่างซักของเราได้ การเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีวิทยากรให้ความรู้ จะช่วยสร้างเสริมสติปัญญา และทำให้ลูกได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ ลูกสนุกจากการที่ได้เล่นได้ทดลองจากของจริงในสิ่งที่เราไม่มีให้ที่บ้าน นอกจากนี้การเล่นเกมวิทยาศาสตร์แสนสนุก ยังสามารถช่วยลูกสร้างเสริมสติปัญญา มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในแนววิทยาศาสตร์ และฝึกการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง

 

สัมผัสประสบการณ์ตรงด้วยการทดลองทำด้วยตนเอง

            ภาษิตโบราณ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ” ยังเป็นจริงอยู่เสมอ ให้พื้นที่ลูกได้สนุกสนานกับการทดลองทำด้วยตนเอง ได้เรียนรู้เป็นประสบการณ์ตรง ทำสำเร็จได้ก็ดี ที่ล้มเหลวก็ไม่เป็นไร แก้ไขแล้วทำใหม่ ให้ลูกได้เรียนรู้แบบ trial and error ลองผิดลองถูก เดี๋ยวก็เก่งเอง เป็นการสร้างทักษะยอมรับความผิดพลาด แล้วหาทางแก้ไขไม่ให้ผิดซ้ำ ลงมือทำใหม่ให้สำเร็จ เช่น ให้ลูกทดลองปลูกต้นไม้โดยเราเป็นผู้ให้คำปรึกษา ลูกลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ดในกระถาง รดน้ำพรวนดิน เฝ้าดูการเจริญเติบโตแล้วจดบันทึก หากสำเร็จมีรางวัลเป็นกำลังใจ เราพาไปเที่ยวตลาดนัดต้นไม้ในวันหยุด ซื้อต้นไม้ที่ลูกชอบมาปลูกในกระถาง หากต้นไม้เหี่ยวเฉา ให้ค้นหาสาเหตุ นักวิทยาศาสตร์น้อยจะได้คำตอบด้วยตนเอง หรือให้ลูกน้อยหัดเพาะถั่วงอกด้วยเมล็ดถั่วเขียว พอขึ้นงอกงาม ก็ได้ทำกับข้าวอร่อยกินกันในครอบครัว ลูกใจฟูด้วยผลงานที่เกิดจากฝีมือ ได้อิ่มความรู้เรื่องกระบวนการเจริญเติบโตของพืชผัก และอิ่มท้องกันทั่วหน้า

 

            นักวิทยาศาสตร์น้อยของเราพร้อมเรียนรู้แล้ว ไปโลดด้วยกันเลยค่ะ

 

ณัณท์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow